ระบบตรวจจับใบหน้าหรือเทคโนโลยี Face Recognition คือชื่อที่อาจฟังดูเหมือนนวัตกรรมใหม่ ที่หลุดออกมาจากภาพยนต์ไซไฟ แต่ไนปัจจุบัน ระบบ Face Recognition กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันโดยที่หลายคนอาจยังไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการปลดล็อคสมาร์ตโฟนด้วยใบหน้า การตรวจวัดอุณภูมิก่อนเข้าอาคาร หรือแม้แต่การใช้ฟิลเตอร์จากแอปพลิเคชันต่างๆ ก็ตาม
DIA จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับระบบตรวจจับใบหน้า ว่า Face Recognition คืออะไร? มีหลักการทำงานอย่างไร? และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจ และอุตสาหกรรมได้อย่างไรบ้าง
Face Recognition คืออะไร
Face Recognition คือ เทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจดจำ และตรวจจับใบหน้าของมนุษย์ โดยผ่านการเก็บข้อมูล ไบโอเมทริกซ์ (Biometric Data) หรือข้อมูลอัตลักษณ์ของบุคคล ที่ได้จากกล้องวงจรปิด รูปภาพ หรือวีดีโอ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลผล และนำไปใช้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ ระบบตรวจจับใบหน้า จึงกลายเป็นเทคโนโลยี ที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งในเรื่องของการยืนยันตัวตน เช่น การสแกนใบหน้าเพื่อปลดล็อคโทรศัพท์ การใช้ใบหน้ายืนยันการทำธุรกรรม หรือการใช้ใบหน้าสแกนเข้าอาคาร เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังถูกนำไปประยุกต์ใช้งานในเรื่องของความปลอดภัย เช่น การใช้ AI ตรวจจับใบหน้าเพื่อตรวจหาบุคคลต้องสงสัยที่แฝงตัวอยู่ในฝูงชน หรือการตรวจบุคคลผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น ระบบ Face Recognition ยังถูกนำมาใช้บนแอปพลิเคชันต่างๆ มากมาย ทั้งในรูปของเกมมือถือ หรือฟิลเตอร์บนโซเชียลมีเดียชื่อดัง ที่ทุกคนจะต้องเคยเห็น หรือเคยใช้มาก่อนอย่างแน่นอน
เห็นได้ว่า Face Recognition คือ หนึ่งในเทคโนโลยีที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยรายงานจาก Market.us ได้คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดโลกของระบบ Face Recognitionนั้นจะขยายตัวจาก 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เป็น 19,300 ล้านดอลล่าร์สหรัฐภายในปี 2032 ซึ่งปัจจัยที่ช่วยเร่งการเติบโตของตลาด ก็คือการระบาดของโควิด 19 ที่ทำให้เทคโนโลยีระบุตัวตนแบบไร้สัมผัสมีความต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสแกนใบหน้าเข้าทำงาน หรือการตรวจวัดอุณภูมิก่อนเข้าอาคาร เป็นต้น อีกทั้งความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้นของระบบตรวจจับใบหน้าก็ช่วยทำให้ตลาดของเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน โดยบทความจาก CSIS (Center for Strategic & International Studies) เผยว่าในสภาวะที่เอื้ออำนวย ระบบ Face Recognitionจะมีความแม่นยำสูงถึง 99.97% เลยทีเดียว
หลักการของระบบ Face Recognition
โดยปกติแล้วระบบ Face Recognition ของแต่ละที่ก็จะมีโครงสร้าง และการทำงานของอัลกอริทึมที่แตกต่างกันออกไป โดยอาจมีการนำ AI หรือ ซอฟแวร์อื่นๆ เข้ามาเสริม เพื่อให้ตัวระบบทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หลักการทำงานขั้นพื้นฐานของ Face Recognition มีดังนี้
การตรวจจับใบหน้า (Detection)
ในขั้นแรก ระบบ Face Detection จะทำการตรวจจับใบหน้าจากข้อมูลไบโอเมทริกซ์ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของรูปถ่าย กล้อง หรือวีดีโอก็ตาม โดยจะเป็นการเก็บข้อมูลใบหน้า และนับจำนวนบุคคลที่อยู่ในภาพ ก่อนที่จะทำการส่งข้อมูลที่ได้รับไปยังขั้นตอนต่อไป
การวิเคราะห์และการบ่งชี้ (Analysis and Attribution)
เมื่อได้ดาต้ามาแล้ว ระบบ Face Recognition จะทำการร่างโครงหน้า หรือสร้างสิ่งที่เรียกว่า Faceprint ขึ้นมา โดยใช้จุดเชื่อมโยงที่เรียกว่า Nodal Points ในการมาร์กตำแหน่งของส่วนต่างๆ บนใบหน้า เช่น ความห่างของคิ้วและดวงตา รูปทรงของจมูก ระยะห่างของคางและปาก เป็นต้น ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ จะมีลักษณะคล้ายกับพิมพ์เขียวของใบหน้าของแต่ละบุคคลนั่นเอง
การจำแนกใบหน้า (Recognition)
ในขั้นตอนสุดท้าย ระบบจะทำการนำ Faceprint ที่ได้ มาเปรียบเทียบกับข้อมูลไบโอเมทริกซ์ที่อยู่ในฐานข้อมูล เพื่อทำการตรวจสอบและยืนยันว่าบุคคลในรูปเป็นใคร อยู่ในฐานข้อมูลหรือไม่ หรือเป็นคนที่กำลังตามหาอยู่หรือเปล่า เป็นต้น ทำให้ระบบ Face Recognition เหมาะกับการใช้งานในเรื่องของการยืนยันตัวตน และความปลอดภัยเป็นอย่างมาก
ประโยชน์ของระบบ Face Recognition
Face Recognition คือ เทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจ ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของภาครัฐ หรือเอกชน ในเรื่องของการยืนยันตัวตน และเรื่องของความปลอดภัย โดยประโยชน์หลักของการใช้ระบบ Face Recognition มีดังนี้
- เสริมความปลอดภัย ในกรณีที่เกิดเหตุร้าย ระบบตรวจจับใบหน้าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่ในการระบุตัวคนร้ายได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสในการจับกุมตัวผู้กระทำผิด และช่วยให้สามารถคัดกรองผู้ไม่ประสงค์ดีออกจากฝูงชน หรือการใช้งานในระดับประเทศ สามารถใช้ในการคัดกรองอาชญากร หรือระบุตัวผู้ร้าย ด้วย AI ตรวจจับใบหน้าได้อีกด้วย
- ถูกปลอมแปลงได้ยาก การยืนยันตนด้วยข้อมูลไบโอเมทริกซ์ เช่น การสแกนลายนิ้วมือ การสแกนม่านตา หรือระบบตรวจจับใบหน้านั้นถูกปลอมแปลงได้ยาก เนื่องจากเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของแต่ละบุคคล ต่างจากการยืนยันตนแบบดั้งเดิม เช่น ลายเซ็น รหัสผ่าน หรือคีย์การ์ด ที่อาจถูกปลอมแปลงหรือโดนขโมยได้ง่าย
- เพิ่มความสะดวก และประหยัดเวลาในการยืนยันตัวตน การยืนยันตัวตนแบบดั้งเดิมนั้นสิ้นเปลืองทั้งในแง่ของทรัพยากรบุคคลและเวลา เนื่องจากองค์กรต้องทำการจ้างคนมาเพื่อรับหน้าที่คัดกรองผู้คน หรือผู้ที่เข้ามาติดต่อ ซึ่งทำให้ต้องเตรียมเอกสารมากมายเพื่อใช้ประกอบการดำเนินการ แต่หากใช้ระบบตรวจจับใบหน้าเข้ามาช่วย ผู้ที่เข้ามาติดต่อสามารถทำการยืนยันตัวตนผ่านใบหน้าของตนเองเท่านั้น ถือเป็นวิธีที่ช่วยให้สามารถย่นระยะเวลา และเพิ่มความสะดวกสบายให้กับทั้งฝั่งขององค์กร และฝั่งของผู้เข้ารับบริการ หรือบุคลากร
ลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโรค ระบบ Face Recognition เป็นระบบยืนยันตัวตนแบบไร้สัมผัส เพราะใช้เพียงใบหน้าในการยืนยันเท่านั้น ช่วยลดการสัมผัสพื้นผิว ต่างจากการยืนยันตัวตนแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเอกสาร หรือการสแกนลายนิ้วมือก็ตาม ซึ่ง Face Recognition คือระบบที่ช่วยลดโอกาสในการแพร่กระจายของโรคติดต่อได้เป็นอย่างดี
การนำระบบ Face Recognition มาประยุกต์ใช้
สิ่งที่ทำให้ระบบ automation คือคำตอบที่ดีที่สุดในการทำธุรกิจในปัจจุบัน คือสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจได้มากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น
การใช้เพื่อทำความรู้จักกับลูกค้า
โดยเฉพาะในส่วนของบริการธนาคาร และสถาบันการเงินที่ต้องมีการทำธุรกรรมทางการเงิน แต่ก็ต้องการความปลอดภัยในการเข้าใช้งาน ข้อดีของการที่องค์กรเหล่านี้ใช้ Face Recognition คือ ลูกค้าสามารถที่จะทำ e-KYC (Electronic Know Your Customer) หรือการยืนยันตัวตนอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาด้วยตัวเอง ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในเวลาเดียวกัน
ตัวช่วยของระบบการจัดการลูกค้าสัมพันธ์
ในส่วนของธุรกิจค้าปลีก ระบบ Face Recognition สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงข้อมูลในระบบจัดการลูกค้าสัมพันธ์ หรือ CRM (Customer Relationship Management) โดยใช้เทคโนโลยี Face Detection ในการช่วยเก็บข้อมูล และสถิติของลูกค้าเพื่อนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือบริการของแบรนด์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น ใช้ดูว่ากลุ่มลูกค้าหลักของร้านเป็นใคร เป็นกลุ่มคนจากประเทศไหนโดยเฉพาะหรือไม่ หรือการเก็บสถิติช่วงเวลาที่ลูกค้าเข้าร้านมากหรือน้อยที่สุด เพื่อนำไปปรับปรุงการวางแผนจำนวนพนักงาน เป็นต้น
นับจำนวนลูกค้า หรือตรวจจับขโมย
ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีก สามารถใช้ระบบ Face Recognition ในการนับจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการในแต่ละวัน เพื่อเก็บสถิติหรือใช้ในการวัดผลลัพธ์ของแผนการตลาด เช่น ใช้ระบบตรวจจับใบหน้านับจำนวนลูกค้าว่าเพิ่มขึ้น หรือลดลง หลังจากปล่อยเคมเปญโฆษณา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้สามารถตรวจจับผู้ร้าย หรือขโมยได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้กับลูกค้า และพนักงานภายในร้านในด้านของความปลอดภัย
ใช้สแกนหน้าผู้ใช้งานในสนามบิน
ปัจจุบันสนามบินหลายแห่งได้มีการนำระบบ Face Recognition มาใช้ในการสแกนใบหน้าของผู้โดยสารที่ต้องการเดินทาง โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจคนเข้าเมืองที่ยังคงต้องใช้พาสปอร์ต แต่มีการใช้ AI ตรวจจับใบหน้า เพื่อช่วยให้การทำงานของพนักงานราบรื่นมากยิ่งขึ้น และช่วยย่นระยะเวลาในการเข้าคิวของผู้โดยสารลง โดยในอนาคตอาจมีการปรับมาใช้เพิ่มเติมในส่วนของการ Check-in ขึ้นเครื่อง โดยใช้เพียงการสแกนใบหน้า ซึ่งหากทำได้โดยสมบูรณ์แล้ว ก็จะยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายให้กับเหล่านักเดินทางได้เป็นอย่างดี
ยืนยันรับสิทธิจากภาครัฐ
ภาครัฐนั้นมีฐานข้อมูลเกี่ยวกับประชาชน ที่ได้มาจากบัตรประชาชนอยู่แล้ว ดังนั้น หากรัฐบาลมีการออกนโยบายช่วยเหลือ หรือมอบสิทธิพิเศษ หรือสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น การจ่ายเงินเยียวยา หรือการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ ก็สามารถนำระบบตรวจจับใบหน้ามาใช้ โดยระบบ Face Recognition คือ เทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนในการยืนยันตัวตน และทำให้การเบิกใช้สวัสดิการทำได้รวดเร็ว และสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ใช้เข้าระบบในองค์กร
ระบบ Face Recognition ใช้ใบหน้าของผู้ใช้งานในการยืนยันตัวตน ซึ่งสามารถถูกปลอมแปลงได้ยาก ต่างจากการใช้คีย์การ์ด หรือบัตรพนักงานที่อาจถูกขโมย หรือปลอมแปลงได้ง่ายกว่า ดังนั้น การใช้ระบบตรวจจับใบหน้าเข้ามาช่วยในเรื่องของการเข้าระบบภายในองค์กร จึงถือเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้องค์กรได้
ตรวจสอบการเข้าทำงานของพนักงาน
โดยปกติแล้ว บริษัทหรือองค์กรแต่ละแห่งต่างมีวิธีการตรวจสอบการเข้าทำงานของพนักงานบริษัทในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป แต่วิธีการแบบดั้งเดิม เช่น การเซ็นชื่อ หรือตอกบัตรนั้น เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองทรัพยากรบุคคลและเวลา และมีช่องว่างในการทุจริตได้ง่าย แม้แต่การใช้ระบบ QR Code หรือ บาร์โค้ด ในการสแกนเข้าทำงานก็เช่นเดียวกัน แต่หากนำระบบ Face Recognition เข้ามาช่วย ก็จะทำให้การตรวจสอบเป็นไปได้อย่างง่ายดาย และช่วยลดความเสี่ยงจากการโดนฉ้อโกงเวลาเข้าทำงานของพนักงานอีกด้วย