รู้จัก Big Data กับการนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อต่อยอดในการทำธุรกิจ

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลต่างๆ ล้วนมีมากมายมหาศาล สำหรับการทำธุรกิจแล้ว ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญมาก เพราะถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาด รวมถึงนำมาต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ ให้องค์กรพัฒนาไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด มาทำความรู้จัก Big Data แหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไรต่อองค์กร พร้อมการนำ Big Data ไปใช้กับธุรกิจ เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ทำความรู้จัก Big Data คืออะไร

ทำความรู้จัก Big Data คืออะไร

Big Data คือ ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่ถูกเก็บรวบรวม และจัดการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งสามารถนำไปวิเคราะห์และประโยชน์ใช้ในหลายด้าน โดยเฉพาะในธุรกิจ เพื่อเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า และสร้างกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่ง Big Data สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำ DATA ANALYTICS คือวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน แล้วนำมาวิเคราะห์ สรุปผล และตัดสินใจ เพื่อทำการตลาดให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ

คุณสมบัติที่สำคัญของ Big Data

คุณสมบัติที่สำคัญของ Big Data

สำหรับคุณสมบัติที่สำคัญของ Big Data จะสามารถจำแนกออกได้เป็น 6 คุณสมบัติ หรือ 5Vs1C ดังนี้

ข้อมูลมีปริมาณมาก (Volume)

อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนนี้แล้วว่า Big Data เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในรูปแบบออนไลน์ และแบบออฟไลน์ โดยข้อมูลจะต้องมีปริมาณมากกว่าหน่วยเทราไบต์ขึ้นไป

ข้อมูลมีความหลากหลาย (Variety)

นอกจากข้อมูลจะมีปริมาณมากแล้ว ข้อมูลยังมีความหลากหลายอีกด้วย ซึ่งข้อมูลประกอบไปด้วยรูปแบบที่มีโครงสร้าง เช่น การตอบแบบสอบถามผ่าน Google Form ที่เป็นคำตอบชัดเจน นำไปใช้ได้ หรือแบบไม่มีโครงสร้าง เช่น คอมเมนต์ใน Facebook เพราะไม่สามารถคาดเดาคำตอบที่แน่นอนได้ และกึ่งโครงสร้าง เช่น การโพสต์ใน X ที่จัดหมวดหมู่ได้ด้วย Hashtag แต่ระบุความหมายไม่ได้ เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (Velocity)

ข้อมูลต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อมูลจากการจราจร ที่ทาง Google Map ได้ทำการเข้าถึง GPS ของผู้ขับขี่รถบนท้องถนน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และแสดงผลลัพธ์ของเส้นทางที่สะดวกที่สุดให้กับผู้ใช้งาน

ข้อมูลมีคุณภาพ ถูกต้อง (Veracity)

Big Data มีหลายแหล่งที่มา เพราะฉะนั้นความถูกต้อง และความชัดเจนของข้อมูลจึงสำคัญมาก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ เพื่อนำมาประมวลผลต่อไปในอนาคต จึงกระบวนการที่เรียกว่า Data Cleansing เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพมากที่สุด

ข้อมูลนำมาใช้ประโยชน์ได้ (Value)

นอกจาก Bid Data จะต้องมีข้อมูลปริมาณมาก และมีคุณภาพแล้ว ต้องแน่ใจได้ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะมีคุณค่า และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะหากข้อมูลไม่สามารถนำมาต่อยอดในธุรกิจได้ ก็ไร้ประโยชน์ ซึ่งคุณค่าของข้อมูลจะแสดงให้เห็นเมื่อธุรกิจเกิดผลกำไร และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวอย่างการนำข้อมูลมาใช้อย่างเป็นประโยชน์ เช่น การนำข้อมูลพฤติกรรมการค้นหาใน Google ของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์ เพื่อให้เห็นถึงความสนใจของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่ง

ข้อมูลมีความเชื่อมโยงกัน (Complexity)

ข้อมูลจาก Big Data ต้องมีความเชื่อมโยงกัน เพราะหากไม่มีความเชื่อมโยงกัน การที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในธุรกิจก็จะยิ่งยาก จึงจำเป็นต้องนึกถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลด้วย เพื่อการนำมาใช้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Big Data มีการทำงานอย่างไร

Big Data มีการทำงานอย่างไร

Big Data ที่มีข้อมูลมหาศาลนี้ มีกระบวนการทำงานอย่างไร มาดูขั้นตอนการทำงานของ Big Data มีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้

1. รวบรวมข้อมูล (Storage)

ขั้นตอนนี้จะทำการเก็บข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งข้อมูลสามารถอยู่ในรูปแบบที่แตกต่างกันได้ เช่น ตัวอักษร ไฟล์เสียง เอกสาร วิดีโอ รูปภาพ เป็นต้น ซึ่งการรวบรวมข้อมูลจะสามารถเก็บข้อมูลได้มากมายเลยทีเดียว อาจจะอยู่ในระดับเทราไบต์ (Terabyte) หรือบางครั้งก็ขึ้นไปถึงระดับเพธาไบต์ (Petabyte)

2. จัดการข้อมูล  (Processing)

ต่อมาเป็นขั้นตอนที่นำข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจัดการเก็บให้ดี ซึ่งจะทำการประมวลผลข้อมูล เพื่อนำไปจัดหมวดหมู่ข้อมูลให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน จากนั้นก็นำข้อมูลที่จัดแยกประเภทแล้ว มาเข้าระบบ เพื่อจัดเก็บไว้ในที่ที่สะดวกต่อการใช้งาน เช่น On Premises, Cloud เป็นต้น

3. วิเคราะห์ข้อมูล  (Analyst)

เมื่อข้อมูลถูกจัดประเภทแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือการนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ ส่วนมากองค์กรใหญ่ๆ จะใช้ AI ในการวิเคราะห์ เพื่อสร้างรูปแบบจำลองของข้อมูล เพื่อหากลยุทธ์ทางการตลาด แนวโน้มของตลาด ความต้องการของลูกค้า ความเป็นไปได้ของเทรนด์ตลาด หรือข้อมูลอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ เพื่อนำข้อมูลมาจัดนำเสนอในรูปแบบที่ต้องการ

Big Data กับประโยชน์ในการนำมาใช้ในองค์กร

Big Data กับประโยชน์ในการนำมาใช้ในองค์กร

เมื่อทราบกันไปแล้วว่า Big Data มีการทำงานอย่างไร ต่อไปมาดูกันว่า Big Data สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจอย่างไรบ้าง

  • เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า: การทำความเข้าใจลูกค้า โดยเฉพาะพฤติกรรมการซื้อ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเสนอสินค้าได้ตรงใจลูกค้ามากขึ้น และยังสามารถนำข้อมูลส่วนนี้ไปปรับปรุงสินค้า และบริการให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีกด้วย
  • สร้างกลยุทธ์เพื่อพัฒนาธุรกิจได้: เพราะการทำธุรกิจคือการแข่งขัน หากไม่พัฒนาสินค้า และบริการเลย ลูกค้าอาจจะหันไปซื้อของคู่แข่ง ดังนั้น ทุกๆ ธุรกิจจึงควรหมั่นวิเคราะห์ข้อมูลใน Big Data อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เท่าทันทุกเทรนด์ใหม่ๆ และก้าวทันคู่แข่งทางธุรกิจด้วย
  • สร้างธุรกิจใหม่จากข้อมูลที่มีอยู่แล้วได้: หากต้องการสร้างธุรกิจใหม่ๆ การมีข้อมูลอยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มความสะดวกสบายในการสร้างธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อเป็นกลยุทธ์ใหม่ๆ อีก 
  • จัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น: แน่นอนว่าการทำธุรกิจอาจจะมีความไม่แน่นอนในเรื่องความต้องการของตลาด แต่การมีข้อมูลปริมาณมาก จะยิ่งช่วยวางแผนกลยุทธ์ได้ดี และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
ขั้นตอนการนำ Big Data ไปใช้ในธุรกิจ ให้เกิดประโยชน์

ขั้นตอนการนำ Big Data ไปใช้ในธุรกิจ ให้เกิดประโยชน์

ขั้นตอนการประยุกต์ใช้ Big Data ในด้านธุรกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุดมีดังนี้

1. กำหนดเป้าหมายทางธุรกิจ

การกำหนดเป้าหมายของธุรกิจ จำเป็นต้องสำรวจธุรกิจก่อนว่า ธุรกิจกำลังประสบปัญหาอะไร หรือต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านไหน เช่น ความต้องการที่จะเพิ่มยอดขาย ลดรายจ่าย ทำความเข้าใจในพฤติกรรมของลูกค้าให้มากขึ้น หรืออยากจะหาเป้าหมายกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เป็นต้น เมื่อกำหนดเป้าหมายเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็เข้าสู่ขั้นตอนการกำหนดข้อมูล

2. กำหนดแหล่งข้อมูล

ต่อมาจะเป็นขั้นตอนการกำหนดแหล่งที่มาของข้อมูล ว่าต้องการจะใช้ข้อมูลจากแหล่งไหนบ้าง เช่น ข้อมูลยอดขายของธุรกิจ ข้อมูลของพฤติกรรมลูกค้าจากเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรืออาจจะเป็นข้อมูลจากร้านค้าตัวแทนจำหน่าย จากภาครัฐ หรือจากสายผลิต เป็นต้น

3. นึกถึง Use Case ในการใช้ข้อมูล

เมื่อได้ข้อมูลที่ต้องการมาแล้ว ก็มาคำนึงต่ออีกว่าธุรกิจสามารถนำข้อมูลส่วนนี้มาใช้ประโยชน์ในด้านไหนบ้าง โดยควรคำนึงถึงกรณีที่ใช้งานจริง (Use Case) ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ และแหล่งของข้อมูล แล้วพิจารณาต่อว่าข้อมูลที่จะใช้ และวิธีที่จะนำมาใช้นั้น สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่

4. เลือกเครื่องมือจัดการ Big Data

เครื่องมือจัดการ Big Data หรือ Big Data Analytic Tool สำคัญมากในการจัดการข้อมูลที่มากมายมหาศาลนี้ เพื่อรวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ และเสนอข้อมูล รวมถึงสามารถทำให้ข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ โดยเครื่องมือต่างๆ ก็มีความหลากหลาย และแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน แต่ส่วนสำคัญคือต้องทำงานร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ ได้ด้วย เช่น Marketing Technology เป็นต้น และต้องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

5. นำ Big Data มาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ

มาถึงขั้นตอนสุดท้าย คือ การดำเนินการ และการตัดสินใจ ซึ่งขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการโดยใช้ข้อมูลที่มีอยู่ มากกว่าที่จะใช้สัญชาตญาณในการวิเคราะห์ เพื่อให้ธุรกิจได้สามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้ดีขึ้น และสามารถทำการตลาดได้อย่างมีชั้นเชิงมากขึ้น

ข้อควรระวังในการใช้งาน Big Data

ข้อควรระวังในการใช้งาน Big Data

เมื่อได้รู้จักกับข้อดี หรือประโยชน์ของ Big Data กันไปแล้ว ต่อมาเราทำความรู้จักกับข้อควรระวังในการใช้กันบ้างดีกว่า เพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  • Big Data เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ยังต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญด้าน IT อยู่ เพื่อที่จะได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  • บางองค์กรอาจจะลดขั้นตอนการทำงานให้น้อยลง เพื่องานที่มากขึ้น ทำให้ในขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลจึงขาดตกบกพร่อง เมื่อข้อมูลมีไม่มากพอ การวิเคราะห์ก็อาจจะไม่มีคุณภาพ และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
  • แม้ข้อมูลจาก Big Data จะเป็นข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์อย่างสมเหตุสมผลมาแล้ว แต่การจะนำข้อมูลมาใช้ก็ยังต้องผ่านการอนุมัติจากทีมบริหารก่อนเสมอ 
  • เพราะ Big Data เป็นเทคโนโลยีรุ่นใหม่ วัฒนธรรมบางองค์กรจึงไม่ค่อยไว้วางใจให้นำมาใช้กับธุรกิจมากเท่าที่ควร และอาจจะนำเทคโนโลยีเก่าๆ มาใช้แทน
5 ตัวอย่างธุรกิจที่นำ Big Data มาประยุกต์ใช้

5 ตัวอย่างธุรกิจที่นำ Big Data มาประยุกต์ใช้

มาดูตัวอย่างของธุรกิจแบรนด์ดังระดับโลกทั้ง 5 แบรนด์ ที่ได้นำ Big Data มาใช้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของสินค้า และบริการ เพื่อตอบสนองตามความต้องการของลูกค้า ดังนี้

1. Google

Google เป็นบริษัทที่ได้นำเอา Big Data มาใช้ อย่างเห็นได้ชัด โดยมีการทำงานตั้งแต่การตรวจสอบ (Crawling) เว็บไซต์​จัดทำข้อมูลดัชนี (Indexing) และประมวลเพื่อจัดอันดับ (Ranking) จากนั้นก็นำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจ โดยผลลัพธ์ที่เห็น ไม่ได้มาจากคำค้นหา (Search Query) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงประวัติการค้นหา ทั้งเว็บไซต์ โลเคชั่น และความสนใจ ที่อัลกอริทึม Google ได้ทำการเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้งาน

ยกตัวอย่างบริการของ Google ที่ได้นำเอา Big Data มาวิเคราะห์ เช่น Google Map, YouTube หรือ Search ที่นำเสนอข้อมูลแบบเรียลไทม์ ให้ผู้ใช้งานได้ประสบการณ์ที่เหมาะสมที่สุด

2. McDonald’s

บริษัทอาหารจานด่วนอย่าง McDonald’s ก็ได้นำเอา Big Data มาใช้ให้เกิดประโยชน์เช่นกัน โดยมีการผสมผสานการบริการด้วย AI เช่น การเก็บข้อมูลสภาพอากาศ การจราจร และช่วงเวลา เพื่อแนะนำเมนูแบบ Personalized บนจอดิจิทัลในรูปแบบของ Drive-thru หรือการนำเสนอโปรโมชันตามรสนิยมของแต่ละคน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งให้เร็วขึ้น ร้านก็สามารถทำยอดขายได้เพิ่มขึ้น โดยมาจากการเก็บข้อมูลประวัติการสั่งอาหารนั่นเอง ทั้งนี้ยังนำข้อมูลฐานลูกค้าทั้งหมด มาวิเคราะห์พฤติกรรมการสั่ง เพื่อออกแบบเมนูใหม่ๆ เพื่อทำการตลาดให้ร้านมีคนใช้บริการอยู่เสมอ

3. Pepsi

บริษัทเครื่องดื่มอย่าง Pepsi ก็ได้นำเอา Big Data มาใช้ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า มีการนำข้อมูลจากร้านค้ารายย่อยทั่วโลก จากระบบการคิดเงินแบบ POS และระบบคลังสินค้า (Warehouse & Inventory) แล้วทำการเช็กว่าสินค้าตัวไหน ขนาดเท่าไร ที่มักจะขายดี เพื่อนำมาวิเคราะห์แผนการขนส่ง และแผนการตลาดต่อไป

4. Uber

Uber บริษัทด้านเครือข่ายคมนาคมของสหรัฐอเมริกา ที่ได้นำ Big Data มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าในแง่ของ Demand และ Supply ซึ่งราคาของค่าบริการก็จะขึ้นอยู่กับ Demand และ Supply ในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น หากเรียกบริการ Uber ในช่วงฝนตก ค่าบริการก็จะสูงขึ้น เพราะมีลูกค้าเรียกเยอะขึ้น แต่ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ ก็จะไม่ได้มีการบวกค่าโดยสารเพิ่ม เป็นต้น

5. Netflix

สำหรับ Netflix บริษัทสตรีมมิ่งชื่อดังระดับโลก ก็ได้มีการนำ Big Data มาพัฒนาบริการมากมาย โดยเฉพาะการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน เป็นต้น เพื่อนำมาต่อยอดในการพัฒนาคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด

จากบทความจะเห็นได้ว่า Big Data ไม่ได้มีประโยชน์แค่การนำมาสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์ในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความเสี่ยง ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อีกทั้งยังช่วยให้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้อีกด้วย เพราะ Big Data นั้นมีคุณสมบัติสำคัญ คือมีปริมาณมาก ถูกต้อง ชัดเจน อัปเดตอยู่เสมอ ข้อมูลมาจากหลากหลายแหล่ง มีความเชื่อมโยงกัน จึงทำให้สามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเลยทีเดียว

ข้อมูลจะไม่มีประโยชน์ หากไม่ได้นำออกมาใช้ องค์กรใหญ่ๆ จึงนำนวัตกรรมอย่าง AI เข้ามาทำงาน เพื่อนำข้อมูลจาก Big Data มาทำการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างแม่นยำ และมีคุณภาพมากที่สุด หากคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับนวัตกรรมสุดล้ำอย่าง AI สามารถมาปรึกษาได้ที่ dIA เพื่อทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานองค์กร ให้คุณมีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สนใจ products ของ DIA สามารถติดต่อ DIA ได้ที่ www.dia.co.th หรือ โทร (+66) 95 8268778