ในปัจจุบันราคาสินค้าและบริการต่างก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงกระทบต่อประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่เหล่าผู้ผลิตเองต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยที่ทำให้โรงงานหลายๆ แห่งต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งการลดต้นทุนในโรงงานก็เป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญในการรับมือกับสถานการณ์นี้ บทความนี้จะช่วยเสนอคำตอบเกี่ยวกับความสำคัญของการลด cost ในโรงงานและวิธีการที่สามารถลดค่าใช้จ่ายในโรงงานลงได้
AI คืออะไร ทำไมถึงนำมาใช้ในด้านอุตสาหกรรม
ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) คือ ระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถคำนวณ และทำงานเหมือนกับมนุษย์ได้ในบางอย่าง รวมไปถึงเลียนแบบกิจกรรมของมนุษย์ได้ เช่น การเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา การประมวลผล การจำลองความคิด การเข้าใจในภาษาแบบมนุษย์ และอื่นๆ อีกมากมาย
เนื่องจาก AI เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมาก และตอบโต้อัตโนมัติได้รวดเร็วกว่ามนุษย์ ทำให้ในหลายๆ ภาคส่วนหันมาใช้ AI เป็นตัวช่วยในการดำเนินงานต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่มีระบบอัตโนมัติเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน ทำให้มีการรวบรวม และจัดเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลนี้ จึงมีการใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรม เพื่อประมวลผลข้อมูลจำนวนมากเหล่านั้นในระยะเวลาอันสั้น พร้อมทั้งให้ AI เรียนรู้ และแก้ไขปัญหาต่างๆ จากฐานข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของมนุษย์ อีกทั้งยังได้ผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และลดข้อผิดพลาดได้อีกด้วย
การนำ AI มาใช้ในด้านอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน AI กำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และการทำงานในภาคส่วนต่างๆ อย่างมาก อุตสาหกรรมรอบตัวเราล้วนแล้วแต่มี AI เป็นตัวช่วย และเมื่อเทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง AI ก็ยิ่งมีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตมากยิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน ได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานดังต่อไปนี้
1. อุตสาหกรรมการผลิต
AI มีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตอย่างมาก จนเกิดเป็นแนวคิดเรื่องระบบการผลิตแบบอัจฉริยะ หรือ Smart Manufacturing ทั้งในเรื่องการทำงานของเครื่องจักร การปรับปรุงขั้นตอนการผลิต ครอบคลุมไปถึงการจัดการสินค้าและการขนส่ง ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมการผลิตที่พบเห็นได้บ่อย คือ การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) เป็นความสามารถในการบันทึกข้อมูลและนำมาคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ จะชำรุดเมื่อไหร่ รวมไปถึงการคาดการณ์ถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการปิดการทำงานของเครื่องจักร เพื่อตรวจสอบความเสียหายได้
2. อุตสาหกรรมยานยนต์
ยานยนต์ในปัจจุบันนี้ต้องมีนวัตกรรมล้ำสมัย เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตผูกพันกับเทคโนโลยี AI จึงเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ยานยนต์ เช่น ระบบสั่งการด้วยเสียง ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ระบบวิเคราะห์เส้นทาง และการหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง เป็นต้น นอกจากนี้ ในด้านอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ที่มีขั้นตอนซับซ้อน ทำให้ต้องใช้ AI เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตด้วย เช่น การใช้ระบบกล้องระบบเซนเซอร์ เพื่อสแกนการเข้าออกงาน ระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ หรือตรวจสอบปัญหาในไลน์การผลิต รวมถึงการใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต เพื่อระบุและแก้ไขข้อผิดพลาดในระดับนาโน ทำให้ช่วยลดความผิดพลาด และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตที่มีความละเอียด และซับซ้อนได้
3. อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการขนส่ง
เราสามารถพบการใช้ AI ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ และการขนส่งได้ด้วยการใช้ AI วิเคราะห์เส้นทาง และสภาพการจราจร เพื่อให้คนขับรถสามารถเลือกใช้เส้นทางที่สั้นและสะดวกที่สุดได้ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ AI ในการติดตามเส้นทางการขับรถ เพื่อตรวจสอบและป้องกันการขับรถออกนอกเส้นทาง หรือเพื่อให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าให้ไปถึงจุดหมายอย่างรวดเร็ว และปลอดภัย รวมไปถึงยังมีการนำ AI มาใช้ในการคาดการณ์ปริมาณออเดอร์ เพื่อให้จัดเตรียมรถขนส่งสินค้า และพนักงานให้เพียงพอต่อความต้องการ และยังสามารถคำนวณพื้นที่ในการจัดวางตู้ขนส่งต่างๆ เพื่อให้การขนส่งแต่ละครั้งสามารถบรรทุกสินค้าให้ได้มากที่สุดอีกด้วย
4. การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์
AI ไม่ได้เป็นผู้ช่วยชั้นดีแค่ในอุตสาหกรรมธุรกิจการค้าเท่านั้น แต่ AI ยังมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์อีกด้วย อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก หากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น นั่นหมายถึงความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดย AI ได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยพยาบาลเสมือนจริง ซึ่งมาในรูปแบบของหุ่นยนต์ผ่าตัด ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากเวชระเบียน และช่วยแนะนำเครื่องมือแพทย์ในระหว่างการผ่าตัดได้ นอกจากนี้ AI ยังมีศักยภาพในการช่วยแพทย์วินิจฉัยโรค สามารถให้คำแนะนำในการรักษาโรคโดยการประมวลผลข้อมูลทางการแพทย์ และวินิจฉัยโรคตามข้อมูลการสั่งยาที่ถูกป้อนข้อมูลเข้ามาได้อีกด้วย
5. ระบบการรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ
เมื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมมีความก้าวหน้า ทำให้ต้องใช้พนักงาน เครื่องจักร และอุปกรณ์ต่างๆ มากยิ่งขึ้นไปด้วย เรื่องของการรักษาความปลอดภัยจึงต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการป้องกันภัยที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องนำ AI เข้ามาช่วย ซึ่งในปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยี AI ที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยอยู่มากมาย เช่น ระบบตรวจจับใบหน้าเพื่อคัดกรองบุคคลแปลกหน้า (Face Recognition) โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ตรวจสอบเอกสารปลอมแปลง และระบบแจ้งเตือนเมื่อบุคลากรสวมอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยไม่เหมาะสม เป็นต้น
6. ธุรกิจโทรคมนาคม
ในแวดวงธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบันมี AI เป็นตัวขับเคลื่อนได้อย่างดีเยี่ยม เพราะ AI ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีบทบาทสำคัญในแง่ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ และเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้งานได้ โดยการใช้งาน AI ยอดนิยมคือการใช้แชตบอต (Chatbot) โปรแกรมโต้ตอบผู้ใช้งานอัตโนมัติ ที่สามารถให้บริการตอบคำถามของลูกค้า และโอนการติดต่อของลูกค้าไปยังแผนกที่เกี่ยวข้องได้
อีกทั้งเทคโนโลยี AI ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อคาดการณ์ และปรับปรุงการเชื่อมต่อของเครือข่ายด้วยการสร้างแบบจำลองเพื่อวางแผนเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถใช้ AI เพื่อประเมินแก้ไขปัญหาอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น สายไฟ หอส่งสัญญาณ ฯลฯ ก่อนที่จะชำรุด หรือนำไปสู่เครือข่ายล้มเหลวได้
7. เกษตรกรรม
มีการประยุกต์ใช้ AI ในด้านอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยเช่นกัน เกิดเป็นระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) โดยสามารถนำ AI มาใช้เพื่อการวิเคราะห์แปลงเกษตร ว่ามีสภาพดินเหมาะสมแก่การเพาะปลูกหรือไม่ รวมไปถึงยังสามารถใช้ AI วิเคราะห์ภาพถ่ายจากดาวเทียม หรือโดรน (Drone) เพื่อคำนวณพื้นที่ใช้สอยในการทำการเกษตร ทำให้สามารถแบ่งพื้นที่เพาะปลูกได้อย่างเหมาะสม ส่งผลดีต่อการวางแผนทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ระบบ AI ยังสามารถวิเคราะห์คุณภาพของพืช หรือผลผลิตที่เพาะปลูกได้ โดย AI จะแนะนำปริมาณแร่ธาตุที่ควรเพิ่มในดิน และช่วยกำหนดปริมาณยาฆ่าวัชพืชที่เหมาะสม ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปุ๋ย และใช้ยากำจัดวัชพืชได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรได้รับผลผลิตที่มีคุณภาพ และลดปริมาณสารตกค้างในผลผลิต และในดินได้อีกด้วย
8. ธุรกิจออนไลน์
ธุรกิจออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้คนจากทั่วทุกมุมโลกได้ทำการซื้อขายกันตลอด 24 ชั่วโมง ถือเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าที่มีจากทั่วทุกสารทิศ และการที่ธุรกิจออนไลน์สามารถเกิดการซื้อขายกันได้ตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจออนไลน์ต้องเตรียมพร้อมให้บริการลูกค้าอยู่เสมอ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ AI ได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมออนไลน์อย่างมาก โดย AI สามารถรวบรวมข้อมูลของกลุ่มลูกค้า วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อ ทำให้สามารถวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้องกับข้อมูลของลูกค้าได้ ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ธุรกิจออนไลน์ส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ AI ในรูปแบบแชตบอต (Chatbot) เพื่อโต้ตอบกับลูกค้าอัตโนมัติได้ทุกเวลา ทำให้ลูกค้าได้รับทราบข้อมูลที่ต้องการอย่างรวดเร็ว ช่วยสร้างความประทับใจ และมอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้า ตลอดจนช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานเพื่อคอยให้บริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงได้อีกด้วย
9. การเงิน และการธนาคาร
AI ในอุตสาหกรรมการเงิน และการธนาคาร เป็นสิ่งที่เข้ามาช่วยให้การดำเนินการต่างๆ เป็นไปอย่างง่ายดาย และในปัจจุบันก็เริ่มมีหลายๆ ธนาคารที่หันมาให้ความสำคัญกับระบบ AI เนื่องจากความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ทั้งวิเคราะห์ข้อมูลการยื่นกู้ การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ยื่นกู้ หรือเป็นผู้ช่วยในการบริหารความเสี่ยง และตรวจสอบเส้นทางการเงินเพื่อป้องกันการทุจริตได้ ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังสามารถรวบรวมข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธนาคารในการนำข้อมูลมาประเมินลูกค้าของธนาคารได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
10. กรมธรรม์ และประกันภัย
ในอุตสาหกรรมประกันภัยก็มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ โดย AI จะวิเคราะห์ข้อมูลประวัติทางการแพทย์ของผู้ถือกรมธรรม์ และช่วยประเมินเงินประกันที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ละเคสได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้จาก AI นั้นมีความแม่นยำสูง จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานได้
ประโยชน์ของ AI ในอุตสาหกรรม
จะเห็นได้ว่าในหลายๆ ภาคอุตสาหกรรมได้หันมาใช้ระบบ AI กันมากขึ้น เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ให้คุณประโยชน์แก่อุตสาหกรรมอย่างมาก ทั้งในด้านการทำงานและด้านค่าใช้จ่าย โดยประโยชน์ของ AI ในอุตสาหกรรมสามารถอธิบายได้ดังนี้
1. เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงาน
การทำงานในภาคอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่ต้องมีการเก็บข้อมูลเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาปรับปรุงธุรกิจให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่ง AI ด้านอุตสาหกรรมสามารถช่วยรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมาวิเคราะห์ เปรียบเทียบ และแสดงผลอย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ภาพรวมของธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น
2. ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย
ด้วยความสามารถของระบบ AI ในอุตสาหกรรมที่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้บางประการ ทำให้ในบางตำแหน่งงานนั้นเลือกที่จะใช้ AI แทนมนุษย์ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงาน รวมไปถึง AI ยังสามารถวิเคราะห์และคาดการณ์ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ จึงทำให้ธุรกิจสามารถป้องกันปัญหาได้ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย ลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างมาก
3. ให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อแตกต่างระหว่างมนุษย์กับ AI ที่ชัดเจน คือ ชั่วโมงการทำงาน โดย AI ในอุตสาหกรรมสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในขณะที่มนุษย์ไม่สามารถทำได้ และต้องมีการพักผ่อนระหว่างวัน เราจึงมักพบ AI ในรูปแบบแชตบอตในธุรกิจหลายๆ ประเภท เพื่อให้ AI เป็นผู้ให้บริการลูกค้าอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าได้รับข้อมูลอย่างรวดเร็วและตัดสินใจได้ทันที ส่งผลดีต่อธุรกิจให้เกิดการซื้อขายได้มากขึ้น หรือในโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบตรวจจับใบหน้า (Face Recognition) ที่สามารถทำได้แบบเรียลไทม์ตลอดเวลา
4. จัดการข้อมูลแบบอัตโนมัติ
ระบบ AI ในอุตสาหกรรมสามารถบันทึก และจัดเก็บข้อมูลปริมาณมากๆ ได้อย่างแม่นยำ และเกิดโอกาสผิดพลาดได้น้อยกว่าการบันทึกข้อมูลโดยมนุษย์ นอกจากนี้ AI ยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ได้ในทันที ไม่ว่าจะเป็นการจัดกลุ่ม เปรียบเทียบ หรือคาดการณ์ล่วงหน้า AI ก็สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ
5. ตรวจสอบข้อผิดพลาดได้อย่างแม่นยำ
อย่างที่ทราบกันแล้วว่าศักยภาพของ AI สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากได้ในระยะเวลาสั้นๆ อีกทั้งยังมีความแม่นยำสูง ซึ่งช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถระบุข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนความสามารถในการนำข้อมูลมาคาดการณ์ข้อผิดพลาดล่วงหน้าได้ ทำให้ธุรกิจสามารถเตรียมความพร้อม และป้องกันข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นได้ ธุรกิจจึงไม่หยุดชะงัก และดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น